ข้อควรระวังอาหารที่ใส่กัญชา
Share : facebook line twitter messenger

ข้อควรระวังอาหารที่ใส่กัญชา

บทความ ร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา



ตั้งแต่มีกระแสนำใบกัญชามาปรุงในอาหารก็มีร้านอาหารหลายร้านเริ่มนำใบกัญชามาประกอบอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา รวมถึงมีคนกังวลเกี่ยวกับข้อควรระวังในการทานอาหารที่ใส่กัญชาเราจึงรวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนกันค่ะ

 

          กัญชา (cannabis sativa)

     พืชกัญชาชนิด cannabis sativa  เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสำปะหลังหรือใบละหุ่ง ริมใบทุกแฉกมีลักษณะเป็นจัก ๆ ใบหนึ่งมีราว 5-8 แฉก ในก้านเดียวกัน ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

     ในกัญชามีสารเคมี cannabinoids อยู่จำนวนหนึ่ง โดยสารสำคัญในกลุ่มนี้ที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ d9- tetrahydrocannabinol (thc) และสารดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของ thc นำไปสู่การผลิตยา dronabinol (marinol) ซึ่งมีส่วนผสมของ thc สำหรับใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์

     กัญชานิยมเสพโดยการสูบ ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไปจะเซื่องซึมลงอย่างช้า ๆ แต่บางรายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

     ผู้เสพกัญชาจะมีอาการเคลิ้มจิต (euphoric “high” or “stoned”) โดยในขั้นต้นๆ มักจะเป็นอาการกระตุ้นประสาท และบางคนจะมีอาการตึงเครียดทางใจหรืออาการกังวล ต่อมาก็มีอาการเคลิ้มจิตเคลิ้มใจ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่า บรรยากาศทั่ว ๆ ไปเงียบสงบ จากนั้นมักจะมีปฏิกริยาที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่นเดียวสงบ เพราะฉะนั้นอาการเคลิ้มจิตจึงควรเรียกว่า “อาการบ้ากัญชา″ มากกว่า

     อาการอื่น ๆ ที่พบคือ ผู้เสพจะรู้สึกล่องลอย ปากแห้ง สับสน อยากอาหาร ชีพจรเพิ่มขึ้น ตาแดงขึ้นในขณะที่เสพยา หากเสพเป็นประจำจะทำให้สุขภาพเสื่อมลง ได้แก่โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบทางเดินหายใจอักเสบ ตะคริว ท้องร่วง

     โดยรวมแล้ว กัญชามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่คล้ายกับพวกยากระตุ้นประสาท (stimulant) ยากดประสาท (depressant) ยาหลอนประสาท (hallucinogen) ยาแก้ปวด (analgesic) และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychotomimetic) หลายประการในยาตัวเดียวกัน มีรายงานการวิจัยว่า lsd มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงเป็น 160 เท่าของ thc และในขนาดใช้ที่ต่ำแล้ว กัญชาและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์คล้ายกัน คือในขั้นต้นนั้น ทั้งสองตัวมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท แต่หลังจากนั้นจะมีฤทธิ์กล่อมประสาท

 

          การควบคุมตามกฎหมาย   

     พืชกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

 

          กัญชา ส่วนไหนกินได้ ส่วนไหนไม่ควรกิน

     รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชาจะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC ซึ่งสาร THC ในกัญชาทำให้มึนเมา เคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน ส่วนที่มี THC เข้มข้นสูงไม่ค่อยดีนักในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษและเมาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนที่มี THC มากมาใส่อาหาร

 

          กัญชา ส่วนที่กินได้ ต้องระมัดระวังปริมาณที่ใส่ และความร้อนที่ใช้ปรุง เสี่ยงอันตราย

     แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งจะมีสารเมา THC ต่ำ แต่ในการกินจะต้องระวัง การใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนไม่ควรปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงอาหารเอง เนื่องจากการปลูกตามกฎหมายจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ไม่ใช่ทุกคนสามารถปลูกเพื่อนำมาทำอาหารได้

     การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากกว่า เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนจะต้องระมัดระวัง ยิ่งการนำใบมาผัดผ่านน้ำมันจะยิ่งอันตราย เพราะมีทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสารได้มาก อาจมีผลให้ได้สารเมาปริมาณมากขึ้น จึงต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางส่วนของกัญชามีร้อยละของปริมาณสารเมาน้อย แต่ถ้าใช้ปริมาณมาก ปริมาณสารเมาก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจะเอาอะไรเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องใช้จากที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังอย่างดี

 

          ใช้กัญชาผสมในอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย

     กัญชา คือ สารชนิดหนึ่ง เมื่อเอาเข้าสู่ร่างกายทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ให้ปลอดภัย ต้องรู้แหล่งที่มา รู้ให้ชัดว่าภายในมีอะไรเป็นส่วนผสมอย่างไรบ้าง หากสงสัยให้สอบถามตรวจสอบไปยัง อย. ก่อน

ขณะนี้อาหารผสมใบกัญชาคนอยากลอง เพราะเป็นของใหม่ในประเทศ แต่อะไรที่ดูน่าลองก็พยายามสังเกตว่าได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ เราเป็นผู้บริโภคเรากำลังจะรับบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่า ๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมาที่มากกว่าคนอื่น ก็ต้องดูเป็นรายบุคคลไป

 

          กลุ่มเสี่ยงอันตราย ไม่ควรลองกินอาหารใส่กัญชา

     กลุ่มที่ควรระมัดระวังอาหารที่ใส่กัญชา คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน และ ผู้สูงอายุ เพราะจะมีความเปราะบางในการรับสาร

 

          เฉพาะ “ใบ” กัญชา ที่ใช้ปรุงอาหารได้ถูกต้องตามกฎหมาย

     ประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาต ให้ใช้เฉพาะใบกัญชามาประกอบอาหารได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นกัญชาที่ปลูกจากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกตามกฎหมาย จึงเอามาปรุงสุกเป็นอาหารและขายได้ โดยขายหน้าร้านตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะบรรจุในภาชนะที่ปิดติดฉลากและกระจายสินค้าไปยังสถานที่อื่น ถ้าหากเป็นการผลิตแบบใส่บรรจุภัณฑ์มีฉลากต้องขออนุญาต อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อีกชั้นหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายมีความย้อนแย้ง เพราะจริง ๆ แล้วการนำใบกัญชามาทำอาหาร ไม่สามารถทำได้ เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.อาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 378 ซึ่งระบุว่าไม่ให้นำทุกส่วนของกัญชามาทำอาหาร

 

          ระวังอย่าให้เยาวชนยกระดับจาก “กิน” เป็น “เสพ” กัญชา

     กัญชามีทั้งคุณและโทษ ตัวกัญชายังถือเป็นสารเสพติดที่เมื่อเสพไปแล้วส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็กแน่นอน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้เสพบางคนแน่นอนเป็นเรื่องจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อดีในเรื่องของสาร CBD ในกัญชาที่สามารถทำให้เกิดเรื่องดี ๆ มากมาย

 

     แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้เหมือนเด็กเห่อของเล่นใหม่ พอกระแสกัญชามา คิดว่าเป็นพืชทางออก พืชที่ทำรายได้ และใช้สันทนาการด้วย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข พยายามประโคมเรื่องนี้ว่าดี เลยเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมคิดว่ามันไม่น่าจะมีพิษมีภัย แม้แต่ผู้ปกครองพบกัญชาในกระเป๋าลูกที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็ไม่เกิดความกังวลอะไร เพราะเข้าใจว่ากัญชาไม่อันตราย

     แต่ที่น่ากังวลคือ เด็กเยาวชนที่สามารถเข้าถึง จะยกระดับพฤติกรรมไม่ใช่แค่ใบ แต่ไปใช้ช่อดอกที่มีสาร THC สารที่ทำให้เกิดความเมา มึนและมีสารเสพติด จึงต้องสื่อสารความถูกต้องให้กับสังคมว่ากัญชามีข้อดีและข้อเสีย

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

อาหารกัญชา เมนูใหม่มาแรงปี 2021

คาเฟ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วิวดี มีแต่ของอร่อย

Created : 29-03-2021

บทความที่น่าสนใจ

ร้านอาหารโคโค่ เจ้าพระยา บรรยากาศดี ที่คุณควรมาลอง

เปิด คุณค่าทางโภชนาการของ เพนเนโบโลเนส ที่ร้านโคโค่เจ้าพระยา